วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

คำสรรพนาม

คำสรรพนาม

คำสรรพนาม เป็นคำที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวมาแล้วเพื่อทำให้เนื้อความมีความสละสลวยยิ่งขึ้น

ชนิดของคำสรรพนาม

คำสรรพนามแบ่งได้ 6 ชนิด คือ
1. บุรุษสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้แทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่กล่าวถึง แบ่งออกเป็น

บุรุษที่ 1ได้แก่ ฉัน ข้าพเจ้า กระผม ผม ดิฉัน เรา อาตมา ข้าพระพุทธเจ้า เป็นบุรุษสรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด
บุรุษที่ 2 ได้แก่ เธอ ท่าน คุณ ใต้เท้า พระคุณเจ้า ฝ่าพระบาท แก เป็นบุรุษสรรพนามที่ใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย
บุรุษที่ 3 ได้แก่ เขา พวกเขา มัน พระองค์ เป็นบุรุษสรรพนามที่เราพูดถึงหรือผูพูดกล่าวถึง

2. ประพันธสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค ทำหน้าที่แทนคำนาม หรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า และยังทำหน้าที่เชื่อมประโยคโดยให้ประโยค 2 ประโยคมีความเชื่อมกัน ได้แก่คำว่า ผู้ ที่ ซึ่ง อัน เช่น
- บุคคลผู้ไม่ประสงค์ออกนาม บริจาคเงิน 100บาท
- ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านนั้นเป็นย่าของผม
- ไม้บรรทัดอันวางบนโต๊ะเป็นของเธอ

3. วิภาคสรรพนาม เป็นสรรพนามบอกความชี้ซ้ำที่ ใช้แทนนามหรือสรรพนาม ที่แยกออกเป็นส่วนๆ หรือเป็นคนๆ หรือพวก ได้แก่ บ้าง ต่าง กัน เช่น
- นักกีฬาต่างดีใจที่ได้ชัยชนะ
- เด็กนักเรียนบ้างก็อ่านหนังสือ บ้างก็ร้องเพลง
- พี่น้องคุยกัน

4. นิยมสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ใช้แทนนามชี้เฉพาะเจาะจง หรือบอกความใกล้ไกล ที่เป็นระยะทางให้ผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจกัน ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น เช่น
-ี่เป็นกระเป๋าใบที่เธอให้ฉัน
- โน่นเป็นเทือกเขาถนนธงชัย
- นี่เป็นของเธอ นี้เป็นของฉัน

5. อนิยมสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้แทนนามบอกความไม่ชี้เฉพาะเจาะจงที่แน่นอนลงไป ได้แก่ ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด บางครั้งก็เป็นคำซ้ำๆ เช่น ใครๆ อะไรๆ ไหนๆ เช่น
- ใครจะไปกับคุณพ่อก็ได้
- ผู้ใดเป็นคนชั่ว เราก็ไม่ไปคบค้าสมาคมด้วย
- ไหนๆก็นอนได้

6. ปฤจฉาสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้ถามที่ใช้แทนนามที่มีเรื้อความเป็นคำถาม เช่น ใคร อะไร ผู้ใด ไหน ปฤจฉาสรรพนามต่างกับอนิยมสรรพนาม ก็คือ อนิยมสรรพนามใช้ในประโยคบอกเล่าหรือปฏิเสธ แต่ปฤจฉาสรรพนามใช้ในประโยคคำถาม เช่น
- ใครมาหาฉัน ?
- อะไรอยู่ใต้โต๊ะ ?
- ไหนเป็นบ้านของเธอ ?

หน้าที่ของคำสรรพนาม สรรพนามใช้แทนคำนามจึงทำหน้าที่เช่นเดียวกับคำนาม ดังนี้

1. ใช้เป็นประธานของประโยค เช่น
- เขาไปกับคุณพ่อ
- ใครอยู่ที่นั่น
- ท่านไปกับผมหรือ

2. ใช้เป็นกรรมของประโยค เช่น
- แม่ดุฉัน
- เขาเอาอะไรมา
- เด็กๆกินอะไรๆก็ได้

3. เป็นผู้รับใช้ เช่น
- คุณแม่ให้ฉันไปสวน

4. เป็นส่วนสมบูรณ์หรือส่วนเติมเต็ม เช่น
- คุณเป็นใคร

5. ใช้เชื่อมประโยค เช่น
- เขาพาฉันไปบ้านที่ฉันไม่เคยไป
- เขามีความคิดซึ่งไม่เหมือนใคร
- คนี่ไปกับเธอเป็นน้องฉัน

6. ใช้ขยายนามที่ทำหน้าที่เป็นประธาน หรือกรรมของประโยค เพื่อเน้นความที่แสดงความรู้สึกของผู้พูด จะวางหลังคำนาม
- คุณครูท่านไม่พอใจที่เราไม่ตั้งใจเรียน
- ฉันแวะไปเยี่ยมคุณครูท่านมา

ข้อสังเกตการใช้คำสรรพนาม

การใช้คำสรรพนาม มีข้อสังเกตดังนี้ คือ
1. บุรุษสรรพนามบางคำจะใช้เป็นบุรุษสรรพนามบุรุษที่ 2 หรือ บุรุษที่ 3 ก็ได้
- ท่านมาหาใครครับ ( บุรุษที่ 2 )
- เธอไปกับท่านหรือเปล่า ( บุรุษที่ 3 )
- เธออยู่บ้านนะ ( บุรุษที่ 2 )

2. บุรุษสรรพนามจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามฐานะของบุคคล วัยและเพศของบุคคล เช่น ผม ใช้กับผู้พูดเป็นชาย แสดงความสุภาพ , ข้าพระพุทธเจ้า ใช้พูดกับพระมหากษัตริย์หรือเจ้าายชั้นสูง เป็นต้น

3. คำนามอาจใช้เป็นสรรพนามได้ในการสนทนา
ปุ๋ยมาหาคุณพี่เมื่อวานนี้ ( ปุ๋ยใช้แทนผู้พูด )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น